วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความสำคัญ

ก่อนที่จะกล่าวถึง “มารยาททางสังคม” ผู้เขียนขอให้มาทำความรู้จักกับคำว่า  “มารยาท” ก่อนว่า คืออะไร “มารยาท” หรือ “มรรยาท” (etiquette or good manners) หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553) หรือก็คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไร พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัว แต่ถือว่าเป็นความกล้า ส่วนความสำรวม คือ การเป็นคนมีสติ ไม่พูดไม่ทำอะไรที่เกินควร รู้จักการปฏิบัติที่พอเหมาะพองาม คิดดีแล้วจึงทำ คาดแล้วว่า การกระทำจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย มิใช่เฉพาะตัวคนเดียว (บ้านมหาดอทคอม, 2552) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล ได้แก่ การสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่น  จึงกล่าวได้ว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคลที่แสดงออกทั้งในด้านกิริยา วาจา ซึ่งมีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ ที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อม มีความสำรวม ถูกกาลเทศะ และปฏิบัติสิ่งที่พอเหมาะพองาม
        มารยาทจึงเป็นสิ่งที่เราเคยชินกับการได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากในบ้านที่คุณปู คุณย่า คุณตา คุณยาย บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักพร่ำสอน ตลอดจนคุณครูและอาจารย์ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ปลูกฝังเรา เพื่อให้เรามีมารยาททางสังคม รู้จักอะไรควรและไม่ควรกระทำ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ มารยาททางสังคมจึงเป็นกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553)

1 ความคิดเห็น: